จุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ดีมักเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ อย่างจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ ที่มีส่วนสำคัญในระบบการย่อยและดูดซึมสารอาหาร รวมไปถึงเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของเรา แต่การจะมีจุลินทรีย์ที่ดีได้เราต้องมีส่วนช่วยในการสร้างสมดุลและเสริมการเจริญเติบโตด้วยอาหารที่อุดมไปด้วยโปรไบโอติก
โปรไบโอติกคืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร
โปรไบโอติก เป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์มาก มีส่วนสำคัญในการช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ เสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร นอกจากนี้ยังช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย โปรไบโอติกสามารถพบได้ในอาหารและอาหารเสริมบางชนิด อาทิ นมเปรี้ยว โยเกิร์ต คีเฟอร์ มิโซะ กิมจิ และคอมบูชา ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นอาหารเสริมหลากหลายรูปแบบ เพิ่มความสะดวกในการรับประทาน การเพิ่มโปรไบโอติกในอาหารจะช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น และสุขภาพโดยรวมดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หากรับประทานโปรไบโอติกในปริมาณมากเกินไปก็อาจส่งผลข้างเคียงได้
หากรับประทานโปรไบโอติกมากเกินไปจะเป็นอย่างไร
1. อาการท้องอืดท้องเฟ้อ
การรับประทานโปรไบโอติกในบางคนอาจส่งผลให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้เนื่องจากมีแก๊สในกระเพาะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่เริ่มรับประทานโปรไบโอติกครั้งแรก อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงนี้มักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและจะบรรเทาลงเมื่อร่างกายปรับตัวได้ดีขึ้น
2. อาการท้องร่วง
ในบางกรณีโปรไบโอติกอาจทำให้เกิดอาการท้องร่วง ซึ่งมักเกิดจากการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้ที่เพิ่มขึ้น ในเบื้องต้นหากมีอาการท้องเสียให้ลดปริมาณหรือหยุดรับประทานโปรไบโอติกจนกว่าอาการจะดีขึ้น
3. อาการแพ้
ในบางคนอาจมีอาการแพ้โปรไบโอติกบางชนิด หากพบว่ามีอาการแพ้ให้หยุดรับประทานโปรไบโอติกและไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
4. อาการปวดท้อง
การรับประทานโปรไบโอติกอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ในบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรับประทานในช่วงแรก แต่ก็มักจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและจะดีขึ้นเมื่อร่างกายปรับตัวเข้ากับแบคทีเรียตัวใหม่ได้
5. อาการปวดหัว
แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย แต่ในบางคนอาจมีอาการปวดหัวเมื่อรับประทานโปรไบโอติก ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ใช่อาการข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป หากมีอาการปวดรุนแรงจึงควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม อาการข้างเคียงเหล่านี้ไม่มีอันตรายร้ายแรงและมักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เมื่อร่างกายสามารถปรับตัวได้อาการเหล่านี้ก็จะดีขึ้น โดยเราสามารถแก้ไขเบื้องต้นได้ด้วยการลดปริมาณหรือหยุดรับประทานโปรไบโอติกจนกว่าจะดีขึ้น แต่หากมีอาการมากหรืออาการนั้นเป็นอยู่นานก็ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำปรึกษา
6. รบกวนการดูดซึมสารอาหาร
การรับประทานโปรไบโอติกบางสายพันธุ์อาจรบกวนความสามารถในการดูดซึมสารอาหารบางชนิดของร่างกาย อาทิ เหล็ก สังกะสี และแคลเซียม ซึ่งสามารถนำไปสู่การขาดสารอาหารได้
7. เพิ่มระดับฮีสตามีน
โปรไบโอติกสามารถเพิ่มการผลิตฮีสตามีนในลำไส้ ซึ่งอาจนำไปสู่อาการแพ้ในบางคนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ฮีสตามีนอยู่แล้ว
8. ความเสี่ยงของการติดเชื้อ
แม้โปรไบโอติกจะช่วยลดการติดเชื้อได้ แต่ในบางคนโปรไบโอติกสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อได้เช่นกัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV หรือมะเร็ง เนื่องจากโปรไบโอติกจะนำแบคทีเรียใหม่เข้าสู่ลำไส้ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อหากระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อใหม่ได้
อาการข้างเคียงอื่นๆ ในการรับประทานโปรไบโอติก
นอกจากนี้การรับประทานโปรไบโอติกยังอาจส่งผลข้างเคียงอื่นๆ ได้ อาทิ ท้องผูก คลื่นไส้ อาการคันหรือผื่นผิวหนัง หรืออาจรบกวนการใช้ยาบางชนิด ซึ่งผลข้างเคียงของโปรไบโอติกนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละคน สิ่งสำคัญคือต้องคอยสังเกตอาการของตัวเองและควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีโรคประจำตัว อยู่ในขั้นตอนการรักษา หรือกำลังใช้ยาใดๆ
โปรไบโอติกนั้นมีประโยชน์มากต่อร่างกาย ช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้และเสริมระบบย่อยอาหารให้แข็งแรง นอกจากนี้ยังสามารถช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น แต่การรับประทานโปรไบโอติกในปริมาณมากเกินไป หรือในบางคนที่ค่อนข้างไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ ก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้ เราจึงควรรับประทานโปรไบโอติกอย่างเหมาะสม โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ มีข้อมูลให้อย่างครบถ้วนและชัดเจน นอกจากการดูแลสุขภาพโดยรับประทานโปรไบโอติกเสริมแล้ว เรายังควรปรับพฤติกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพควบคู่ไปด้วย อาทิ การพักผ่อน หรือการเลือกรับประทานอาหารที่ครบหมู่